CBT for Leadership training

Published on
Apr 9, 2024
|
By
Preaw
|
2
mins read

ในช่วงที่ทำงานเป็นนักบำบัดแบบ CBT ได้ทำเคสและ supervise นิสิตในหลักสูตรที่มีเคสที่เป็นคนทำงานในองค์กร รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนสนทนากับ executive coach บางท่าน ที่ต้องการเรียนต่อทางด้าน CBT เพราะไม่สามารถแนะนำ coachee ได้หากเขาตกอยู่ในภาวะที่มีอารมณ์ท่วมท้น หรือมีปัญหาทางจิตใจที่สะสมมา ทั้งความเชื่อความคิดที่มีแพทเทิร์นบางอย่าง ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ส่งผลต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาตนเอง จึงอยากจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะจะมีประโยชน์อันใด หากทำงานสำเร็จแต่ยังคงทุกข์ใจ

ผู้เขียนไม่ได้เป็น coach จึงจะไม่เขียนในส่วนนั้น แต่จะขอยกตัวอย่างเคสที่เคยมาปรึกษา ทั้งคู่เป็นเจ้าของกิจการคล้ายกันแต่ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน ขอเรียกว่าคนหนึ่งว่า คุณแอล (นามสมมติ) และอีกคนว่าคุณแซม (นามสมมติ) ถ้ามองจากภายนอก ทั้งสองคนก็เป็นคนที่เก่งมั่นใจ ตามแบบฉบับเจ้าของกิจการ ซึ่งแม้จะมีคุณแซมจะเคยมีโค้ชที่ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาตนเอง แต่ก็ยังเจออุปสรรคอันเกิดจากความคิดความเชื่อภายในตนเอง หากมีเรื่องหรือสิ่งกระตุ้นเดิม ๆ ขึ้นมา ก็มักจะเกิดการโทษตนเอง นำไปสู่ความเศร้าเสมอ ๆ แม้จะทำงานได้สำเร็จ แต่ระหว่างทางก็ยังมีความทุกข์มากอยู่ดี หรืออย่างคุณแอลที่ในบางครั้งก็เกิดความวิตกกังวลซึ่งก็ขัดขวางการดำเนินงานในแต่ละวันเพราะประสิทธิภาพแย่ลง ความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิตลดลง บางครั้งฮึดขึ้นมาได้แต่ก็ใช้เวลานาน และบางครั้งก็กลับเข้าวงจรเดิม

หัวใจของ CBT คือการมองเห็น ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกัน

หากแต่ว่ายังสามารถมองเห็นได้ลึกซึ้งกว่านั้น คือ ความเชื่อระดับแก่น หรือ Core belief ที่ก่อร่างสร้างคนคนหนึ่งขึ้นมา ในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหนังกระดูกจับต้องได้ แต่เป็นการมองโลก การมองคนรอบข้าง การมองตัวเอง การให้ความหมายของสิ่งเหล่านั้น การที่ช่วยให้คนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ จะเป็นระดับ Executive หรือ พนักงานระดับปฏิบัติการ หรือใครก็ตามในองค์กร ได้มองเห็นในสิ่งนี้ ก็จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงในการจัดการอารมณ์และการสร้างทักษะที่เรียกว่า Resilience ขึ้นมาได้ ส่งผลด้าน Well-being ของคนคนนั้น

การทำ CBT ในเชิงพัฒนาศักยภาพ

ปกติ CBT จะทำกันเป็น session ประมาณ 12-16 ครั้ง มีการทำ goal setting ของการทำจิตบำบัด มีการตั้ง agenda ในแต่ละ session มีโครงสร้างที่ชัดเจน แต่ในกรณีของทั้งคุณแอลและคุณแซม เราพูดคุยกันในลักษณะที่ไม่ได้ทำจิตบำบัดในสถานพยาบาล ออกแนวการให้คำปรึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพและทักษะ  เราทำการพูดคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ ครั้ง แต่ใช้รูปแบบและเทคนิคของ CBT ทำให้เราได้เข้าใจถึง ความเชื่อเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของการทำงานและความเป็นผู้นำของเขา การขาดเมตตาต่อตนเองจนกระทบคนรอบข้าง เราก็ใช้ interventions แบบนักบำบัด CBT อย่างการปรับความคิด cognitive restructuring และการให้ความรู้ด้านการจัดการความเครียด stress management and progressive muscle relaxation รวมถึง interventions เชิง mindfulness และสิ่งที่กลับไปทำและฝึกฝน จนทำให้เขาได้เห็นถึง แพทเทิร์นซ้ำ ๆ ของตนเองทั้งด้านความคิดและพฤติกรรม และค่อย ๆ ปรับให้เป็นไปในทางที่มีคุณต่อตนเองมากขึ้น เช่น การตัดสินใจ การสื่อสารด้วยการคำนึงถึงผู้อื่น (empathetic communication) โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญสำหรับทั้งคู่คือการเมตตาต่อตนเอง (self-compassion) มากขึ้น และ resilient มากขึ้นเมื่อเจอกับอุปสรรค

ดังนั้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้พบว่าการผสมผสานหรือบูรณาการ CBT เข้าไปในการให้คำแนะนำ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยั่งยืนขึ้น เพราะเกิดจากภายในของคนคนนั้น อย่างเคสคุณแอลก็ได้ช่วยเรื่องการพัฒนาศักยภาพที่แท้จริงได้ และย่อมส่งผลดีต่อคนรอบตัว ครอบครัว และหน้าที่การงาน ส่วนคุณแซมก็เปลี่ยนแปลงในเรื่องการให้คุณค่าที่แท้จริงต่อตนเองหรือ core value

การสร้างสรรค์หลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำจึงต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดของการให้คำปรึกษา การ coach และเพิ่มการใช้กลยุทธ์ใหม่และองค์ความรู้อื่น ในฐานะที่เป็น CBT Therapist คนหนึ่ง (ที่เป็นนักออกแบบการเรียนรู้และ Visual facilitator ด้วย) ได้พบว่าจริง ๆ การทำ CBT สามารถจะปิด gap ของการ coaching กับการให้คำปรึกษาได้ โดยใช้จุดเด่นของทักษะการทำจิตบำบัดให้เป็นประโยชน์ ผสมผสานเข้าไปในหลักสูตรด้าน Leadership training ใหม่ ๆ เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาตนเองในบุคคลให้ได้ประโยชน์สูงสุด ให้องค์กรมี well-being เพิ่มขึ้น จนสามารถยืนหยัดต่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและซับซ้อนในโลกยุคนี้ได้

=====
บทความนี้และรูปภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและบริษัท อาร์ทิพาเนีย จำกัด

Contact