เพราะอะไร Self-efficacy จึงมีผลต่อความสำเร็จ

Published on
Jan 30, 2024
|
By
Preaw
|
6
mins read

“ความเชื่อในตัวเองนี่ใช่ว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ความไม่เชื่อในตัวเองนี่ทำให้เกิดความล้มเหลวได้อย่างแน่นอน”
“Self-belief does not necessarily ensure success, but self-disbelief assuredly spawn failure” (Bandura, 1997)

Albert Bandura
นักจิตวิทยาระดับปรมาจารย์ของโลก ผู้ให้คำนิยามเรื่อง Self-efficacy ได้กล่าวไว้

คนเราจะมีความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของตัวเองอยู่ และเมื่อเราเชื่อว่าด้วยความสามารถที่เรามีนี้ เราจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เราก็จะลงมือทำ ทำในแบบที่เต็มใจจะทำ พร้อม ทนทำมันได้นาน ๆ แม้จะพลาดก็ยังทำต่อไป จนกว่าจะสำเร็จ
มีในบางกรณีที่เราไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้สำเร็จมั้ย แต่สิ่งนั้นมีผลสำเร็จที่น่าดึงดูดมาก หรือหากทำได้มันจะต้องดีแน่ ๆ เราก็จะทำ เพราะเรามองเห็นประโยชน์และคุณค่าของการทำสิ่งนั้น เช่น การซื้อลอตเตอรี่(หากถูกรางวัลที่ 1 จะเป็นผลสำเร็จที่หอมหวานมาก) การเรียน การสอบเข้ารับราชการ
หรือในบางกรณี เราเห็นว่า มันมีความน่าจะเป็น มันดูจะพอเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น (ไม่ยากเท่าซื้อลอตเตอรี่) โอกาสสำเร็จมีสูง และเรารู้ว่า เราก็มีความสามารถจะทำได้ เราก็จะลงมือทำและพยายามเหมือนกัน

Self-efficacy ในภาษาไทยแปลว่า การรับรู้ความสามารถของตนเอง ผู้เขียนขอขยายความว่า คือ ความเชื่อว่าเราจะทำสิ่งนั้น ๆได้สำเร็จ ในสถานการณ์เฉพาะเจาะจงในบริบทชัดเจน
เช่น ฉันไม่ใช่คนเขียนหนังสือเก่ง แต่ฉันรู้ว่าฉันสามารถเขียนรายงานฉบับนี้ส่งหัวหน้าได้ทัน

Self-efficacy ต่างจาก Self-esteem การเห็นค่าของตัวเอง และ Self-confidence ความมั่นใจในตนเอง ตรงนี้ขออธิบายอีกสองคำ เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

Self-esteem
คือความเชื่อของคน ในเรื่อง “คุณค่าของตัวเอง” คนที่มีระดับ Self-esteem ที่ปกติจะมองว่าตนมีค่า ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง หรือทำอะไรไม่เป็น และมีความรักตัวเอง

Self-confidence คือ ความมั่นใจในตัวเองและความสามารถของตัวเองโดยรวม ๆ และมั่นใจในการควบคุมดูแลชีวิตตัวเองได้ เช่น ฉันเป็นคนรับผิดชอบ ฉันเป็นหัวหน้าที่ดี

แต่คนที่มีความเชื่อด้านความสามารถของตัวเองในการบรรลุเป้าหมาย Self-efficacy มีความมั่นใจ Self-confidence ในทักษะบางอย่าง อาจจะมองว่าตัวเองไม่มีค่า และไม่มั่นใจในตัวเองในภาพรวมก็ได้

เรื่องของไมเคิล เฟลป์

ไมเคิล เฟลป์ นักว่ายน้ำโอลิมปิคระดับตำนาน เขารู้ว่าตัวเองเก่งด้านการว่ายน้ำ เป้าหมายคือต้องการพิชิตเหรียญทองโอลิมปิคแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เขาเชื่อว่าถ้าซ้อมก็จะทำได้ และ ลงมือฝึกซ้อมอย่างหนักแบบไม่ยอมแพ้ ก็คือเขามี Self-efficacy ในเรื่องการชนะการแข่งขันว่ายน้ำโอลิมปิค และมีความมั่นใจในตัวเองในฐานะนักกีฬาว่ายน้ำ

แต่เพราะการซ้อมของเขาคือทุกอย่าง มีโค้ช มีทีมงาน คอยดูแลจัดการชีวิตของเขา เขาเกิดคำถามว่า แล้วนอกจากการว่ายน้ำแล้ว เขาจะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร เขาควรจะทำอะไรนอกจากนี้ เพราะตัวเองได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว เขาไม่มีความมั่นใจในตัวเองในแง่มุมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการว่ายน้ำ (เพราะไม่เคยทำอย่างอื่นเลย) “ผมเองก็เป็นแค่เด็กว่ายน้ำเก่งเท่านั้น” ตรงนี้คือทำให้ Self-confidence ของเขาลดลงอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงกระทบกับ Self-esteem ไปด้วย เหมือนกับว่า ชีวิตเรามีคุณค่าแค่นี้ ไม่มีค่าอะไรอย่างอื่นแล้ว

ดังนั้น Self-efficacy, Self-confidence, และ Self-esteem จึงมีความแตกต่างกัน แต่เกี่ยวข้องกันอยู่

ในส่วนของการออกแบบการเรียนรู้นั้น การที่ผู้เรียนมี Low Self-efficacy เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างมาก ดังประโยคข้างต้นที่ Bandura ได้กล่าวไว้

ถ้าผู้เรียนเชื่อว่า “เราคงไม่มีวันทำได้สำเร็จ" เขาก็จะล้มเลิกได้ง่ายมาก หรือไม่ก็ตั้งเป้าหมายไว้ต่ำมาก กลายเป็นตัดโอกาสการเรียนรู้ของตัวเอง ดังนั้น การบ่มเพาะปลูกฝังความเชื่อในความสามารถของตัวเองจึงสำคัญมาก

เราจะสร้าง Self-Efficacy ได้อย่างไร

ปัจจัยที่ส่งให้คนมี Self-efficacy มี 4 อย่าง คือ

  1. Mastery experiences: เคยประสบความสำเร็จมาก่อน
  2. Vicarious experiences: เห็นคนที่ประมาณเดียวกับเราทำสิ่งนั้นได้
  3. Social persuasion: ได้ยินคนบอกว่าเราทำได้
  4. Physiological signal: เห็นความพยายามและเวลาที่เราได้ใช้ไปในการทำสิ่งนั้น ๆ

ผู้เขียนมองว่า ข้อ 1 และ 4 เป็นเรื่องของทักษะ Skill แต่ในข้อ 2, 3 เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ ความคิด จึงอยากจะอธิบายเพิ่มเรื่องการปรับความคิด เพิ่มเข้ามาด้วย โดยต้องคำนึงถึงการเข้าใจ Self-attribution และ Schema ของผู้เรียน

ด้านปรับความคิดและทัศนคติ

Self-attribution เพราะเหตุนี้...เราจึงเป็นแบบนี้

โดยปกติคนเราก็จะมีการอนุมานหรือสรุปเอาว่า สิ่งนี้เกิดจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นสาเหตุของสิ่งนี้ ในแง่ที่เกี่ยวกับตัวเองอยู่ นั่นคือ Self-attribution โดยมีทั้งในแง่บวกและลบ ถ้าเป็นบริบทในเชิงพัฒนาตนเอง เชิงการเรียนรู้ ก็เช่น เราคงทำพรีเซนต์งานได้ไม่ดีหรอก เพราะบอสดุมาก หรือจากคำกล่าวกันเสมอ ๆ ว่า เพราะเป็นผู้หญิงจึงไม่เก่งเลข การมองเช่นนี้ เป็น Self-attribution ในแง่ลบ ซึ่งส่งผลต่อ Self-efficacy ได้ เพราะเราจะมองว่าการไปถึงเป้าหมายนั้นมันช่างยากลำบาก เช่น ถึงขยันแค่ไหนแต่ก็เป็นผู้หญิง..ก็คงไม่ช่วยอะไร เราจึงไม่เชื่อว่าเราจะสามารถทำได้ ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ด้วยการเปลี่ยน Self-attribution ใหม่ Carol Dweck ผู้เขียนหนังสือ Mindset แสดงเรื่องการปรับเปลี่ยน Self-attribution ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Growth Mindset เทียบกับ Fixed mindset

Schema แพทเทิร์นในหัวของเรา...ในเรื่องต่าง ๆ

Schema คือรูปแบบความคิดที่คนเราพยายามจะทำความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เรามี schema เกี่ยวกับการไปกินข้าวนอกบ้าน ว่าลำดับขั้นตอนคือต้องหาที่นั่ง สั่ง กิน จ่ายเงิน แต่จริง ๆ มันก็อาจจะไม่ใช่แบบนี้ตลอด เช่น อาจจะเป็น สั่ง จ่าย หาที่นั่ง กิน ก็ได้ ถ้าผู้เรียนมี schema ของการเรียนว่าเป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขาไม่ชอบ เขาก็อาจจะมองการเรียนวิชาอื่นเป็นแบบเดียวกันหมดได้ หรือมองเป็นการเรียนทั้งหมดในโลกเป็นแบบนั้นเลยก็ได้ ทั้งที่จริงอาจจะเป็นแค่การเรียนวิชานั้นวิชาเดียวที่จะเป็นแบบนั้น

ในการพัฒนาให้มี Self-efficacy มากขึ้น ก็คือต้องปรับเปลี่ยน Self-attribution และ ปรับ Schema ให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่เหมารวมทุกอย่างว่าจะต้องเป็นแบบ Schema ที่มีอยู่ในหัว


ข้อ 3 Social persuasion: การได้ยินคนบอกว่าเราทำได้

สมัยที่ผู้เขียนทำงานร่วมกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในประเด็นของเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (LD-Learning Disabilities) ไม่ว่าจะพยายามเท่าไรก็ตามจะทำทักษะบางอย่างไม่ได้ เช่น การอ่านหนังสือ อันเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง การจะช่วยให้เด็ก ได้มี Self-esteem ที่ดีขึ้นร่วมกับมี Self-efficacy ด้วยนั้น จึงสำคัญมาก "แม้จะอ่านหนังสือไม่เก่ง แต่ก็ยังทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย" โดยคนรอบตัวเด็ก เช่น พ่อแม่ และครู สามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น ให้กำลังใจ ให้คำชมในแง่ความพยายาม “หนูพยายามได้ดีมาก” (ไม่ใช่ชมว่า หนูเก่งมาก หนูฉลาดมาก) ก็จะทำให้ช่วยลดอุปสรรคการเรียนรู้ได้ ดังนั้นการได้ยินคนบอกว่าเราทำได้จะช่วยสร้าง Self-efficacy ได้

ข้อ 2 Vicarious experiences: เห็นคนที่ประมาณเดียวกับเราทำสิ่งนั้นได้

ให้ผู้เรียนได้เห็นว่า มีคนที่มีคุณสมบัติมีที่มาที่ไปที่คล้าย ๆ กับพวกเขาประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยให้ผู้เรียนเชื่อในสิ่งที่ทำ และมีพลังในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ในงานวิจัยของ Bartsch, Case และ Meerman ใช้ Peer models ในการเรียนคอร์สสถิติ เขาเลือกเด็กที่เรียนดีโดยรวม แต่มี Low self-efficacy ในวิชาสถิติ โดยให้เด็กครึ่งหนึ่งได้ฟังเด็กรุ่นก่อนหน้าที่เพิ่งเรียนไปเล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนวิชานี้ การจัดการความเครียดและกลยุทธ์ในการเรียน และประสบความสำเรจอย่างไร แต่ให้เด็กอีกครึ่งหนึ่งลองจินตนาการว่า เด็กรุ่นก่อนที่เรียนสำเรจนั้น ต้องทำอย่างไรถึงเรียนได้ดี ซึ่งในเด็กครึ่งหลังก็จะจินตนาการว่า เด็กรุ่นก่อนที่เรียนดี เป็นเด็กเก่งอยู่แล้วและขยัน

ผลคือเด็กกลุ่มแรกที่ได้อ่านเรื่องราวของเด็กรุ่นก่อนหน้า มี Self-efficacy ในวิชานี้เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่ให้จินตนาการ กลับมี Self-efficacy น้อยลง อาจเพราะจินตนาการว่า เด็กรุ่นก่อนที่ทำได้ดีมีความแตกต่างกันมากจากพวกเขา คงเป็นเด็กเก่งมากอยู่แล้ว แต่เด็กกลุ่มแรกได้เห็นว่าเด็กรุ่นก่อนก็คุณสมบัติคล้าย ๆ กัน และต้องพยายามมากเหมือนกัน ถ้าเทียบกับตัวอย่างก่อนหน้าคือ ทำให้เด็กผู้หญิงได้เห็นว่ามีเด็กผู้หญิงหลายคนที่เรียนรู้วิชาเลขและทำได้ ต่อมาทำงานเป็นวิศวกรได้ เป็นดร.ด้านคณิตศาสตร์ได้

ทีนี้ลองมาดูด้านเสริมทักษะกันบ้าง

ข้อ  4 Physiological signal: เราต้องการให้ผู้เรียนเห็นว่า ความพยายามและเวลาที่เขาได้ใช้ไปในการทำสิ่งนั้น ๆ มันส่งผลต่อความสำเร็จของเขา แค่เราพร่ำบอกและชื่นชมก็ไม่พอ แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า การกระทำของเขา มันจะส่งผลและควบคุมความสำเรจได้อย่างไร

งานวิจัยหนึ่งที่ Carol Dweck มีส่วนร่วมเป็นทีมนักวิจัย ได้ออกแบบหลักสูตร Brainology ใช้วิธีการแสดงตัวอย่างการพัฒนาของสมอง ว่าถ้าลงมือทำและพยายาม สมองจะพัฒนามาก มีการสร้างความเชื่อมโยงแตกแขนงไปอีกมากมาย โดยจุดประสงค์เพื่อให้เด็กลงมือพยายาม แทนที่จะห่วงว่าตัวเองไม่ฉลาดคงทำไม่ได้ ซึ่งหลักสูตรนี้ประสบความสำเร็จในการสร้าง Growth mindset ในเด็ก 5-9 ปี และโตกว่าด้วย

อีกตัวอย่างคือ ให้ผู้เรียนปรับการมุมมองใหม่ เพราะหลายคนมองว่า ถ้าเมื่อไรที่เราต้องพยายามมาก นั่นคือโง่ และไม่เก่ง คนฉลาด ๆ หัวไบรท์ เขาไม่ต้องพยายามมากนักหรอก  คนเราก็ไม่อยากถูกมองว่าโง่ เลยไม่พยายามดีกว่า

ในงานวิจัยของ Hong และ Ling-Siegler ใช้วิธีเล่าเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งแต่มีอุปสรรคขวากหนามในการทำงานมากมาย เช่น ไอน์สไตน์ แมรี คูรี ให้เด็กกลุ่มหนึ่งฟัง เทียบกับ เล่าเรื่องความสำเร็จเฉย ๆ โดยไม่บอกที่มาที่ไปว่าคนเหล่านั้นต้องเจออะไรบ้าง ให้เด็กอีกกลุ่มฟัง ผลคือเด็กกลุ่มที่ได้ฟังอุปสรรค มีพัฒนาการที่ดีกว่าในแง่ทัศนคติและการเรียนรู้  งานของ Schunk, Hanson, and Cox เรื่อง บุคคลตัวอย่าง Role model ก็ยืนยันเช่นเดียวกัน

ข้อ 1 Mastery experiences: เคยประสบความสำเร็จมาก่อน

ในงานวิจัยของ Schunk และ Gunn ได้สอนเด็ก 9-11 ปี ที่ไม่ถนัดโจทย์เลขเรื่องการหาร โดยกลุ่มแรกให้ผู้ใหญ่มาสอนให้ปรับความคิด โดยให้บอกตัวเองว่า  “ถ้าทำก็ทำได้ ระหว่างที่ทำก็ต้องพยายาม ทำเสร็จแล้วแสดงว่าเราเก่งขึ้นแล้ว” กับอีกกลุ่มคือ ให้ผู้ใหญ่มาแนะนำว่า ต้องระวังเรื่องอะไรบ้างในการทำโจทย์เลขหาร เช่น เรื่องคูณกลับ และการลบเลข

ผลออกมาคือ ถ้ามีความเชื่อมาก ว่าทำสำเร็จ แต่ไม่มีเทคนิคกลยุทธ์ในการทำโจทย์ ก็ไม่เพิ่ม Self-efficacy นัก แต่ถึงมีแต่กลยุทธ์ แต่ขาดความเชื่อ Self-efficacy ก็ไม่เพิ่มเหมือนกัน

คือไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องมีทั้งทักษะ และ แรงจูงใจมุ่งมั่น ถึงจะเพิ่มได้

Prof. Dan Swartz อจ.ของผู้เขียน ซึ่งปัจจุบันเป็น คณบดีที่ Graduate School of Education ที่ Stanford University กล่าวว่า Self-efficacy มีผลต่อชีวิตเรามาก ๆ ทั้งสิ่งที่เราเลือกจะทำ และการตีความต่อสถานการณ์และการตอบสนองต่อสถานการณ์ ในส่วนพฤติกรรม คือ

- Approach behavior
การจะลงมือทำอะไร หรือเริ่มทำอะไร เช่น การเลือกอาชีพ
- Persistence behavior
การใช้ความพยายาม ความเพียร ไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรคขวากหนาม
- Response to effort
เมื่อพยายามแล้วเราเกิดความรู้สึกหรืออะไรตามมา เช่น ความเครียด ความซึมเศร้า หรือความภูมิใจ ความมั่นใจ

ซึ่งหากสะสม ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ไปในแง่บวก จะทำให้การเรียนรู้และความสำเร็จพุ่งทะยานขึ้นได้เลย

เมื่อปี 1989 Bandura และ Wood เคยทำการศึกษาเรื่องนี้ ในกลุ่มผู้จัดการที่ต้องฝึกฝนทักษะการตัดสินใจที่เฉียบขาดโดยต้องใช้แบบฝึกจากในบทเรียนของ Business School กลุ่มผู้จัดการครึ่งแรก จะได้รับข้อมูลว่า การตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ได้นั้นต้องมาจากทักษะที่ค่อย ๆ มีผ่านการฝึกฝน และแบบฝึกนี้ก็จะช่วยบ่มเพาะให้พวกเขามีทักษะนั้นเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้จัดการอีกครึ่ง จะได้รับข้อมูลว่า การตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ได้นั้นขึ้นกับความฉลาดที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และแบบฝึกนี้คือเพื่อวัดว่าแต่ละคนฉลาดแค่ไหน

ผลคือในกลุ่มแรก มี Self-efficacty มากขึ้น และยิ่งทำแบบฝึกไปก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่กลุ่มหลังมี Self-efficacty น้อยลง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในผู้จัดการกลุ่มแรกเนี่ย ก็จะค่อย ๆ เริ่มดึงทักษะการวิเคราะห์ การมองภาพรวมมาใช้ในการทำแบบฝึกนี้ด้วยและทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังตั้งเป้าหมายที่สูงและท้าทายกว่าที่ตั้งไว้ตอนแรก ผลสุดท้ายคือผู้จัดการกลุ่มแรกมี productivity โดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มสอง 20% จึงสรุปว่า การเลือกลงมือทำ การพยายาม และการตอบสนองต่อความพยายามของเรา ที่เป็นเชิงบวก ทำให้ประสบความสำเร็จได้

แล้วเราจะทำให้ตัวเองมี Self-efficacy ได้เองมั้ย

Prof. ของเราตั้งคำถามว่า แล้วเราจะทำให้ตัวเองมี Self-efficacy ได้มั้ย?
คำตอบคือ ทำได้...บ้าง แต่หากมีฝ่ายสนับสนุนและสิ่งแวดล้อมคอยช่วย จะทำได้ดีกว่า

ผู้ออกแบบการเรียนรู้ (Learning designer) จึงจำเป็นต้องสร้างปัจจัยสนับสนุน และออกแบบสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนา Self-efficacy  ของผู้เรียนด้วย

จุดน่าสนใจคือเราไม่ควรจะพึ่งพา Self-efficacy แต่เพียงอย่างเดียว เช่นหากเราออกแบบได้ไม่ดี หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ ครูอาจารย์ เทรนเนอร์ โค้ช ไม่มีทักษะที่ดี ก็อาจจะโทษผู้เรียนได้ว่า ไม่มี Self-efficacy มีความพยายามน้อย แต่จริง ๆ เราต้องสำรวจให้รอบด้านว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ปัญหาการเรียนรู้ยังคงอยู่ และ Self-efficacy ควรจะนำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง เพราะหากเรารับรู้ว่าเรามีความสามารถ ตั้งเป้าหมาย และพยายามที่จะบรรลุจุดหมายนั้นอย่างไม่ย่อท้อ เปรียบเหมือนเรามีพลังมาก แต่ใช้ทำในสิ่งที่ผู้อื่นจะเดือดร้อน ก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ดี

สิ่งที่เข้ามาสนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้ให้มีมากขึ้นคือการมีจุดมุ่งหมาย หรือ Purpose

Damon กล่าวว่า ลักษณะของ Purpose คือ "ความตั้งใจที่มั่นคงที่จะบรรลุเป้าหมายในเรื่องหนึ่ง ที่ในเวลาเดียวกัน มีความหมายต่อตัวเอง และผลต่อโลกที่นอกไปจากตัวเอง" เป็นการขยายประโยชน์ของเป้าหมายออกไป เช่น การอยากเป็นหมอเพราะชอบวิทยาศาสตร์และเป็นอาชีพที่มั่นคง ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยชีวิตคน สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่เป็นบวกได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ และเขามีความเชื่อว่า ตัวเองมีความสามารถพอที่จะเรียนเป็นหมอได้ Self-efficacy ก็จะเพิ่มขึ้น

Self-efficacy จัดอยู่ในประเภท Non-cognitive skills
เพราะเป็นทักษะที่ไม่ต้องอิงวิชาการ หลักความรู้อะไร แต่เอาจริง ๆ ก็ไม่เชิง เพราะการจะมี Self-efficacy ต้องใช้ทั้งความจำ ทั้ง Self-attributions และกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้วย แม้ว่ามันจะถูกจัดประเภทไว้เช่นนั้น แต่ก็ใช้คาดการณ์ความสำเร็จของคนทั้งการเรียนการทำงานและชีวิตได้เหมือนกัน

อ้างอิง
Bandura, A., (1997). Self-efficacy: The exercise of control. New York: W.H.Freeman.
Bandura, A. & Wood, R.E. (1989). Effect of perceived controllability and performance standards on self-regulation of complex decision-making. Journal of Personality and Social Psychology, 56, 805-814.
Damon, W. (2008). Moral child: Nurturing children's natural moral growth. New York: Free Press.
Dweck, C. (2006). Minset: The new psychology of success. New York: Random House.
Hong, H.Y., & Lin-Seigler, X. (2012). How learning about scientists' struggles influences students'interest and learning in physics. Journal of Educational Psychology, 104(20), 469-484.
Schunk, D. H., Lhanson, A.R., & Cox, P.D. (1987). Peer-model attributes and children's achievement behaviors. Journal of Educational Psychology, 79(1), 54-61.

=====
บทความนี้และรูปภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและบริษัท อาร์ทิพาเนีย จำกัด

Contact