"ฉันมาทำอะไรที่นี่" มีใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้าง
Prof.Amy Cuddy ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำที่ Harvard Business School เล่าเรื่องนักศึกษาที่ไม่มีส่วนร่วมในชั้นเรียนและเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสอบตก หากมองเพียงภายนอก เด็กกลุ่มนี้ดูจะเป็นพวกไม่ตั้งใจเรียน ไม่อ่านหนังสือที่อาจารย์สั่ง ไม่ตอบไม่ถามใด ๆ ในห้องเรียนเลย แต่เมื่อเธอลองเรียกนักศึกษาเหล่านั้นมาคุย จึงได้พบว่า เด็กเหล่านี้มีความคิดและรู้สึกว่า “ชั้นมาทำอะไรที่นี่”
ประโยคนี้ทำให้เธอนึกถึงสมัยที่ตนเองยังเป็นนักศึกษาปี 1 ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เธอเคยเป็นแบบเดียวกัน และมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน คือ อยากจะลาออก ไม่อยากจะพยายามอีกต่อไปแล้ว อ่านแล้วทำให้ผู้เขียนนึกถึงวันปฐมนิเทศนักศึกษาเข้าใหม่ที่ Graduate School of Education, Stanford University โปรเฟสเซอร์บอกกับพวกเราอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครที่ “ฟลุค” เข้ามาเรียนที่นี่ได้ ทุกคนที่มาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่กรรมการอ่านใบสมัครผิด แต่เพราะทุกคนมีความสามารถและเหมาะกับที่นี่
หลายปีต่อมา เพื่อนร่วมชั้นชาวอเมริกันคนหนึ่ง มาเล่าว่า ถ้าวันนั้นอาจารย์ไม่ได้พูดแบบนั้น เขาคงวิตกกังวลไปเรื่อย ๆ จนไม่เป็นอันเรียนแน่ ๆ เพราะเขามักมีความคิดเสมอ ๆ ว่าตัวเองไม่เหมาะไม่เก่งพอจะอยู่ที่นี่
ความคิดที่ว่า “เราเป็นส่วนหนึ่ง” (Belonging) คือการรับรู้ว่าเราได้รับการยอมรับ มีคนให้ค่าเราและนับเราเข้าเป็นส่วนเดียวกันกับพวกเขาและคนอื่น ๆ ในกลุ่มนั้น เราจะรู้สึกมีคุณค่า ตัวเองมีค่า
หากเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันจะทำให้เราเพิ่มความพยายามที่จะอยู่ในกลุ่มนั้น ในแง่การเรียนรู้เราจะพยายามเรียนรู้มากขึ้น จะสู้กับอุปสรรคมากขึ้น ไม่ย่อท้อยอมแพ้ง่าย ๆ และความรู้สึกทางลบในการเรียนรู้ก็จะลดลง แต่ถ้าเราคิดว่าเราไม่ได้เป็นพรรคพวกเดียวกัน เราจะกังวลมากขึ้น และนั่นจะไปกดข่มความสามารถในการเรียนรู้ลง เพราะการเรียนคือการเข้าสังคม มันเกิดขึ้นในบริบทและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะในห้องเรียน ที่ทำงาน และยิ่งเมื่อคนเราทำอะไรผิดพลาด เรามักจะคิดว่า ที่ตรงนี้ไม่เหมาะกับเราแล้วล่ะ
ลองนึกถึงนักกีฬาที่แข่งแล้วแพ้ นักเรียนที่เรียนไม่ดี หากไม่มีความคิดว่า ฉันยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอยู่ เช่น ฉันยังอยู่ในวงการกีฬาได้ ยังอยู่ในวงธุรกิจหรือ start up ได้ พวกเขาก็มักจะเลิก ลาออก หันไปทำอย่างอื่นแทน
มีการทดลองให้นักศึกษาเข้าใหม่ได้อ่านเรียงความของรุ่นพี่ พวกเขาพบว่า รุ่นพี่รุ่นอื่น ๆ หลายคนก็รู้สึกเช่นเดียวกับพวกเขาตอนนี้ คิดว่าเราไม่เหมาะกับคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้ ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่นี่ โดยเฉพาะนักศึกษาแอฟริกันอเมริกัน ที่มักถูกเหมารวมจากสังคมอยู่แล้วว่าไม่น่าจะเรียนสูงได้ ซึ่งภายหลังจากได้อ่านเรียงความเหล่านั้น พร้อม ๆ กับการได้ทำกิจกรรมกลุ่มที่เพิ่มความคุ้นเคย นักศึกษาที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนและคณะ กลับมีผลการเรียน GPA ดีขึ้นอย่างชัดเจนในเทอมถัดไป และดีขึ้นเรื่อย ๆ จนจบการศึกษา
ยังมีอีกการทดลองหนึ่ง ที่ทำเพื่อช่วยปรับความเชื่อในหมู่นักศึกษาหญิง ว่าผู้หญิงไม่เก่งเลข โดยการทดลองนี้ได้แบ่งนักศึกษาเป็นสองกลุ่มเพื่อทำโจทย์เลข แต่พิเศษตรงที่สำหรับกลุ่มที่สอง จะมีคนบอกว่า โจทย์นี้ออกแบบมาสำหรับคนทุกเพศ เพศไหนก็ทำได้ไม่ต่างกัน ผลคือในกลุ่มแรก ผู้หญิงทำได้แย่กว่าผู้ชาย แต่กลุ่มสองผู้หญิงทำคะแนนได้ดีกว่า
การดทลองทั้งหมดนี้ ได้ช่วยลดความเชื่อและภาพจำเรื่องการเหมารวม และเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขึ้นมาได้
เราสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานกันเอง กับเจ้านายหรือหัวหน้า ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ด้วยการ “ตั้งเป้าหมายร่วมกัน”
เมื่อทุกคนรับรู้เป้าหมายของคนอื่น ได้บอกเป้าหมายของตัวเอง และนำมาตั้งเป้าหมายของกลุ่มร่วมกัน จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน และเกิดความรู้สึกยอมรับขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ในองค์กรขนาดเล็ก หรือในองค์กรใหญ่ระดับทีม แผนก หากเป็นสถานศึกษา ก็ใช้ในระดับห้องเรียนหรือชั้นเรียนได้
อีกการทดลองที่เรียกว่า Perspective ranking นั้น มีวิธีการคือให้นักศึกษาทายว่า อาจารย์อยากให้นักศึกษาทำอะไรมากที่สุด เรียงลำดับลงมา 5 อย่าง แล้วนำมาเทียบกันว่า ตรงกับที่อาจารย์คิดไว้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ตรงกันทั้งหมด เมื่อนักศึกษาได้เห็นว่า สิ่งที่อาจารย์อยากให้ทำนั้นไม่เหมือนที่ตนทายไว้ จึงนำไปสู่การสนทนาว่าเพราะอะไร นักศึกษาจึงคิดเช่นนั้น และสรุปท้ายตกลงร่วมกันเพื่อสร้างระเบียบและเป้าหมายของการเรียนรู้ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งเสริมการเรียนรู้มากขึ้น
สรุป
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการเรียนรู้ ทั้งในบริบทสถานศึกษาหรือองค์กร ผู้สอน ผู้ออกแบบ กระบวนกร หัวหน้าทีม จำต้องสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มให้เกิดขึ้น ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และก็อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ความรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งยังคงอยู่ ถึงกระนั้นการพยายามลงมือปรับเปลี่ยนทั้งมุมมองและสิ่งแวดล้อม ก็ควรจะต้องทำเพื่อช่วยลดอุปสรรคในการเรียนรู้
****บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท อาร์ทิพาเนีย จำกัด
อ้างอิงจาก บทความ Harvard Business School Case study: Gender Equity
Walton, G.M, Cohen, G.L (2011). A brief social-belonging intervention improves academic and health outcomes of minority students. Science, 331(6023), 1447-1451
Spencer, S.J. Steele, C.M. & Quinn, D.M (1999). Stereotype threat and women’s math performance. Journal of Experimental Social Psychology, 35(1), 4-28.